กรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรระวังโรคสัตว์ในหน้าหนาว หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ รักษาความสะอาดในสถานที่เลี้ยง ให้มีอากาศถ่ายเทและป้องกันลม ฝนได้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันทีที่พบสัตว์ป่วย/ตาย

          นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวนและในช่วงนี้มีอุณหภูมิลดต่ำลงในหลายพื้นที่ ประกอบกับมีฝนตกในบางพื้นที่ด้วย ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรระวังโรคสัตว์ของตนเองและสัตว์ในหมู่บ้านในฤดูหนาวที่กำลังมาถึง

          สำหรับโรคในโค กระบือ ที่ควรระวัง ได้แก่ โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย เป็นโรคที่มีความรุนแรงในกระบือ สัตว์จะหายใจหอบ มีเสียงดัง คอ หรือหน้าบวมแข็ง ตายอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวม นอกจากนี้ยังมีโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งสามารถติดต่อ และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด จากการที่สัตว์กินเอาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่กับอาหารและน้ำหรือหญ้า หรือหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่กับอากาศในบริเวณที่มีสัตว์ป่วยเข้าไปสัตว์จะแสดงอาการมีไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายไหล มีแผลที่ลิ้น เหงือก และร่องกีบ บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต อาจทำให้สัตว์ตายได้ ทั้งโรคคอบวมและปากเท้าเปื่อย กรมปศุสัตว์มีวัคซีนให้บริการเกษตรกรตลอดเวลา

          โรคในสุกร ให้ระวังโรคปากและเท้าเปื่อยเช่นเดียวกับในโค กระบือ และโรคที่อาจพบการระบาดได้ในช่วงนี้ คือโรค PRRS ซึ่งเป็นโรคในสุกรไม่ติดต่อถึงคน แต่เชื้ออาจจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว สุกรที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หอบ ไอ ผิวหนังเป็นปื้นแดง ไม่มีแรง หากสุกรท้องจะแท้ง หรือลูกตายแรกคลอด หรืออ่อนแอ แคระแกร็น โตช้า จึงขอให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้มงวดการป้องกันโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสุกร โดยแยกเลี้ยงสุกรใหม่เพื่อดูอาการก่อนนำเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 1 เดือน ต้องทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมากับยานพาหนะและคนก่อนเข้าสถานที่เลี้ยงสุกร ด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง และในช่วงที่มีโรคนี้ระบาดในพื้นที่ ควรงดการนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่และให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด

         สำหรับผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ไก่ชน และไก่พื้นเมือง  ควรเฝ้าระวัง ดูแล สุขภาพสัตว์ปีกของตนเองอย่างใกล้ชิด   ให้สัตว์ปีกนอนในที่แห้งหรือในเล้าหรือโรงเรือน ที่มีหลังคาและผนังป้องกันลม ฝนได้ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยให้สัตว์ปีกแข็งแรง ต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะตรวจเยี่ยมเกษตรกรอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ปีก และให้ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่ถูกต้อง

          ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ ฝากถึงประชาชนว่า การประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ให้รอบคอบ โดยเฉพาะด้านการจัดการ การควบคุม ป้องกันโรค และการตลาด หากสนใจขอข้อมูล หรือคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทั่วประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.

…………………………………………….

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์