อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระวังโรคฉี่หนู ผู้มีแผลที่เท้าต้องระวัง เชื้อโรคเข้าทางแผลหรือไชผ่านผิวหนัง ป้องกันได้ด้วยการสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง หากต้องลุยย่ำน้ำ

            นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่าขณะนี้เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) โรคนี้พบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายนทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีฝนตกหนัก น้ำขังเฉอะแฉะ การป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ  หากจำเป็นต้องลุยน้ำต้องสวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล  ผู้ที่ต้องทำงานในที่ชื้นแฉะตามไร่นาหลังจากเสร็จภารกิจแล้วให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด  เช็ดตัวให้แห้ง

            โรคนี้มีสาเหตุมาจากหนู โดยเชื้อโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังชื้นแฉะทั่วไป มักพบติดเชื้อขณะทำนา ทำสวน ระหว่างการจับปลา จับหนูในนา นอกจากนี้ยังพบในผู้มีอาชีพรับจ้าง นักเรียน ข้าราชการ ทหารตำรวจและพระภิกษุ  จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบในเพศชายมากกว่าหญิง 4 เท่าตัว

            เชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป  และเชื้อไชเข้าทางรอยแผล รอยขีดข่วน หรือผ่านผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ ซึ่งผิวจะอ่อนนุ่ม  เชื้อชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน  โดยทั่วไปมักติดเชื้อขณะเดินย่ำดินโคลน เดินลุยน้ำท่วม หลังติดเชื้อประมาณ 4-11 วัน จะเริ่มมีอาการ โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดน่อง หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นเช่น ไอเป็นเลือด ตัวเหลือง อาจเสียชีวิตจากไตวาย ตับวายได้

           ดังนั้น จึงควรสวมใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้งเมื่อต้องย่ำลุยน้อง และในการบริโภคน้ำบ่อควรต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ  ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง รวมทั้งดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนูได้ ควรปิดอาหารให้มิดชิดป้องกันไม่ให้หนูปัสสาวะรดอาหารได้ ส่วนอาหารที่ค้างคืนให้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

                                                                                                   ..........................................................

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์