001    วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ ร่วมกันจัดกิจกรรมทำกระทง จัดทำซุ้มประตูป่า ประดิษฐ์โกม(โคม) เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีปบูชาสืบสานประเพณี “ยี่เป็ง” ซึ่ง หมายถึงประเพณีเดือนยี่ คือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาโดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วน “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย โดยงานประเพณีจะมีสามวัน ได้แก่ “วันขึ้นสิบสามค่ำ” หรือ วันดา เป็นวันซื้อของเตรียมไปทำบุญที่วัด “วันขึ้นสิบสี่ค่ำ” จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน และ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ” จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ โดยจำลองเหตุการณ์ที่ชาวเมืองจัดบ้านเมืองเพื่อต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดร และมีการจุดถ้วยประทีป(การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดว่าวไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

 

 

 

 


ข่าว : ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5