อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิลดต่ำลง ส่งผลให้ภาคเหนือมีอากาศหนาว และหนาวจัดบนดอยสูง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย เกษตรกรจึงควรดูแลตัวเอง และสุขภาพปศุสัตว์ให้แข็งแรงอยู่เสมอ

          นายสัตวแพทย์ทฤษดี  ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มีความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกตอนบนมีอากาศเย็นและมีหมอก บนยอดดอยอาจหนาวถึงหนาวจัดได้ และภาคใต้มีฝนกระจายถึงหนักมากในระยะนี้

                ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวอาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังปศุสัตว์ของตนเอง ให้มีสุขภาพดีในฤดูหนาวที่กำลังมาถึง  โดยจัดเตรียม วิตามิน และเกลือแร่ ให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงจัดเตรียมโรงเรือนเพื่อเป็นที่กำบังลมหนาว หรือ หาที่สุมไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับปศุสัตว์ และเมื่อสุมไฟให้ไออุ่นกับปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว ขอให้เกษตรกรดับไฟให้สนิทเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ทุกครั้งด้วย ส่วนในภาคใต้ เกษตรกรควรจัดเตรียมน้ำสะอาด ยา เวชภัณฑ์ พืชอาหารสัตว์ และสถานที่เตรียมพร้อมอพยพสัตว์ขึ้นบนที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เพื่อป้องกันการสูญเสียปศุสัตว์ในกรณีน้ำท่วมขังสูง

            สำหรับโรคในโค กระบือ ที่ควรระวัง ในระยะนี้ ได้แก่ โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย  เป็นโรคที่มีความรุนแรงในกระบือ สัตว์จะหายใจหอบ มีเสียงดัง คอ หรือหน้าบวมแข็ง ตายอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวม  นอกจากนี้ยังมีโรคปากและเท้าเปื่อย  ซึ่งสามารถติดต่อ และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด จากการที่สัตว์กินเอาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่กับอาหารและน้ำหรือหญ้า หรือหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่กับอากาศในบริเวณที่มีสัตว์ป่วยเข้าไปสัตว์จะแสดงอาการมีไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายไหล มีแผลที่ลิ้น เหงือก และร่องกีบ บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต อาจทำให้สัตว์ตายได้    

           ในสุกร ให้ระวังโรคปากและเท้าเปื่อยเช่นเดียวกับในโค กระบือ และโรคที่มีการระบาดในช่วงนี้ คือโรค PRRS เป็นโรคในสุกรไม่ติดต่อถึงคน ซึ่งเชื้อจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว สุกรมีอาการไข้ หอบ ไอ ผิวหนังเป็นปื้นแดง ไม่มีแรง หากสุกรท้องจะแท้ง หรือลูกตายแรกคลอด หรืออ่อนแอ แคระแกร็น โตช้า จึงขอให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้มงวดการป้องกันโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสุกร โดยแยกเลี้ยงสุกรใหม่ก่อนเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 1 เดือน ทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมากับยานพาหนะและคนก่อนเข้าสถานที่เลี้ยงสุกร ด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง และในช่วงที่มีโรคนี้ระบาดในพื้นที่ ควรงดการนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่และให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด     

          สำหรับผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ไก่ชน และไก่พื้นเมือง  ควรเฝ้าระวัง ดูแล สุขภาพสัตว์ปีกของตนเองอย่างใกล้ชิด   ให้สัตว์ปีกนอนในที่แห้งหรือในเล้าหรือโรงเรือน ที่มีหลังคาและผนังป้องกันลม ฝนได้ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยให้สัตว์ปีกแข็งแรง ต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี   

         อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรเองก็ต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงด้วยเช่นกัน เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย และต้องหมั่นสังเกตสุขภาพของปศุสัตว์อยู่เป็นประจำหากพบสิ่งผิดปกติ หรือสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้านท่าน อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด.          

                                                    .......................................................................                                 

ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์