Sidebar

กรมปศุสัตว์ไทยเป็นต้นแบบแก่ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการใช้ระบบ e-service ในการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าปศุสัตว์ ตามมาตรฐานสากล

                นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้มีความร่วมมือด้านการพัฒนาการประสานงานด่านกักกันสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมปศุสัตว์ไทยเป็นประเทศแรกในประเทศสามาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่นำระบบ e-service และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์มาใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าปศุสัตว์ได้

                จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีโรคระบาดสัตว์เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพสัตว์ และการผลผลิตของสัตว์ของประเทศนั้นๆ ดังนั้น เมื่อเกิดโรคระบาดสัตว์เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการสูญเสียปศุสัตว์ที่เลี้ยง ผลผลิตตกต่ำ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา หรือการควบคุมโรค สูญเสียโอกาสในการส่งสัตว์ไปจำหน่ายยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ อย่างเช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกร โรครินเดอร์เปสต์ โรคไข้หวัดนก เป็นต้น

                การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามพรมแดนนั้น จะต้องอาศัยมาตรการหลายประการ เช่น การทำวัคซีนเพื่อป้องกันควบคุมโรค การเฝ้าระวังและทดสอบโรค ระบบเตือนภัย และการป้องกันโรคล่วงหน้า การควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ ดั้งนั้นประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวม 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน (มณฑลยูนนาน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพรมแดนอาจก่อให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ได้อยู่เสมอ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคสัตว์ในสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงการพัฒนาการเคลื่อนย้ายสัตว์ในภูมิภาคนี้ กรมปศุสัตว์ และสำนักการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการทำเครื่องหมายเลขทะเบียนสัตว์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านด่านกักกันสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านกักกันสัตว์ได้มีโอกาสในการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ และวางมาตรการการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อที่จะสามารถนำกลับไปใช้ในการพัฒนาด่านกักกันสัตว์ของแต่ละประเทศให้พัฒนาทัดเทียมกันต่อไป รวมทั้งประเทศไทยได้ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ได้นำระบบ e-service มาใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าปศุสัตว์อีกด้วย.

......................................................................................

ข้อมูล : กองปศุสัตว์ต่างประเทศ กรมปศุสัตว์