วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 9.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานโครงการประชุมสัมมนาติดตามผลสำเร็จของการดำเนินงานหน่วยงานกรมปศุสัตว์ในพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการศึกษาดูงานการส่งเสริมปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ณ โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พร้อมด้วย นางสาวเยาวนิตย์ บุรีรักษา เลขานุการกรม และผู้แทนผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมการประชุม โดยมีนายสัตวแพทย์สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ กล่าวต้อนรับ นายสัตวแพทย์ศราวุธ เขียวศรี ผู้แทนปศุสัตว์เขต 5 กล่าวรายงาน ปศุสัตว์จังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 5 เข้าร่วมประชุม
อธิบดีกรมปศุสัตว์เน้นย้ำการขับเคลื่อนงานด้านปศุสัตว์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ดังนี้
1) นโยบายด้านสุขภาพสัตว์ เน้นเฝ้าระวังควบคุม ป้องกันโรคที่สำคัญเช่น การควบคุมและป้องกันโรค เข้มงวดในการกักสัตว์และเคลื่อนย้าย เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โรคไข้หวัดนก (AI) การควบคุมโรคสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิเช่นโรคลัมปีสกิน โรคปากและเท้าเปื่อย/โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย เป็นต้น โดยทุกโรคเน้นเชิงรุก สอบสวนโรค คุมสถานการณ์และการระบาดให้รวดเร็ว ตามหลัก "รู้เร็ว สงบเร็ว" และการสร้างเครือข่ายปฏิบัติงานในพื้นที่
2) นโยบายด้านการผลิตสัตว์ มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และปรับใช้ตามสภาพพื้นที่ เน้นการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตามศักยภาพในพื้นที่ การผลิตพันธุ์สัตว์ การผลิตอาหารสัตว์
3) นโยบายด้านมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โครงการปศุสัตว์ OK อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยอาหาร เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค เกษตรกรมั่นคง ภาคเกษตรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหารที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค กำชับให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคส่งเสริมและขยายผลในด้านการพัฒนาภารกิจด้านคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง
4) นโยบายด้านส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ การลดต้นทุนการผลิตปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าการเกษตร โครงการแปลงใหญ่ และโครงการพระราชดำริ
5) การจัดการภัยพิบัติด้านปศุสัตว์และการช่วยเหลือภัยพิบัติให้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือให้ทันท่วงที่รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติน้อยที่สุด
6) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รายสินค้าปศุสัตว์เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาปศุสัตว์ของเกษตรกรในเกิดการพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับและเพื่อให้การ ขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านการปศุสัตว์ของประเทศสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเกิด ประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการปฏิบัติงาน เน้นเชิงรุก ยึดสุจริตและโปร่งใสเป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาลด้านงบประมาณให้ใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และด้านบุคลากร ให้พัฒนาองค์ความรู้เพิ่มศักยภาพของตนเองเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและประเทศชาติต่อไป และที่สำคัญที่สุดขอให้ทุกคนรู้รักสามัคคี ทั้งนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมรับฟังปัญหา/อุปสรรค ของการดำเนินงานในพื้นที่ เพื่อนำปัญหาดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชี้แนะหลักการในการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ ให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรและสำเร็จตามเป้าหมายการดำเนินงานต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์และคณะยังได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการส่งเสริมปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ณ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะ จังหวัดแพร่ (เลิศสิริฟาร์ม) ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เพื่อตรวจเยี่ยมฟาร์มแพะเนื้อของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ พร้อมให้คำแนะนำการทำวัคซีน การควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ อธิบดีกรมปศุสัตว์มีนโยบายในการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ ซึ่งเป็นทางเลือกอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มากก็สามารถเลี้ยงแพะได้ เนื่องจากสามารถปล่อยให้หากินพืชอาหารในธรรมชาติทั้งไม้พุ่ม กระถิน และหญ้าได้
การเลี้ยงแพะกำลังได้รับการสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากการปลูกพืชแล้ว การเลี้ยงสัตว์ยังเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งเป็นรายได้หลักและรายได้เสริม ปัจจุบันประเทศไทยนอกจากจะเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคภายในประเทศแล้วยังสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยแพะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่กรมปศุสัตว์ได้ทำการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเลี้ยงเช่นเดียวกับสัตว์อื่น การผลิตแพะยังสามารถขยายตัวได้อีกมากเพราะนอกจากจะเลี้ยงแพะเพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีแนวโน้มที่สามารถจะส่งแพะไปจำหน่ายยังประเทศข้างเคียงได้อีกด้วย นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มอบปัจจัยการผลิต อาทิเช่น หญ้าแพงโกลาแห้งเพื่อลดต้นทุนการผลิตและการสำรองเสบียงอาหารสัตว์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินรวมถึงวิตามิน แร่ธาตุ และยาถ่ายพยาธิเพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ของสัตว์ต่อไป
https://region5.dld.go.th/webnew/index.php/en/news-menu/2019-08-07-09-22-48/1972-2565-n148#sigFreeId716b7d5909
ภาพ/ข่าว : สำนักงานปศุสัตว์เขต 5