วันที่ 7 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 5 เป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ “องค์กรเกษตรกรดีเด่นด้านการส่งเสริมให้สมาชิกทุกรายผ่านการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(มาตรฐานฟาร์ม) 100% GAP” แก่สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี น.สพ. ชัยโรจน์ โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ นายวุฒิชัย คำดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ พร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอแม่วาง ประธานฯ กรรมการ ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกสหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสำนักงานสหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวม 51 ราย ได้รับการรับรองฟาร์มมาตรฐานโคนม (GAP) 100% ผลิตน้ำนมดิบจำหน่ายให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปน้ำนมดิบ โดยสหกรณ์สนับสนับเงินทุนและปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อปรับปรุงระบบการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน และมีระบบการสำรองและโรงผลิตอาหารหยาบคุณภาพดี สำหรับโคนมของสมาชิกในช่วงขาดแคลนหรือต้องการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้คุณภาพ ยกระดับการเลี้ยงโคนมของสมาชิกให้ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า และผู้บริโภค
ปศุสัตว์เขต 5 ได้กล่าวว่า ในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 5 ทั้ง 8 จังหวัด มีฟาร์มโคนมทั้งหมด 1,488 ฟาร์ม เป็นฟาร์มที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม(GAP) 1,301 ฟาร์ม (ร้อยละ 87.41) มีสหกรณ์โคนม/บริษัท ทั้งหมด 34 แห่ง เป็นสหกรณ์โคนม/บริษัท ที่สมาชิกผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มทั้งหมด (100% GAP) จำนวน 14 แห่ง สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด ถือเป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาส่งเสริมสมาชิกทั้งหมดให้มีการปรับปรุงฟาร์ม สมาชิกร่วมมือพัฒนาฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มทั้งหมด (100% GAP) โดยสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเกษตรกรโคนมในพื้นที่มุ่งให้เป็นแหล่งผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด ผ่านโครงการนมคุณภาพสูงล้านนา หรือ Lanna High Quality Milk และในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จในการผลักดันและพัฒนาฟาร์มโคนมทั้งหมดในพื้นที่เขต 5 ให้ได้รับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) ทั้งหมด 100% ซึ่งการปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐานจะช่วยส่งเสริมให้ฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคที่ดี มีกระบวนการผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดความสูญเสียจากน้ำนมดิบที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างหรือเตรียมความพร้อมภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรโคนมเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรี (FTA) ในอนาคต
กรมปศุสัตว์มีหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ทั้งด้านการควบคุม ป้องกันโรค ด้านการส่งเสริมการผลิต การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโคนม เช่น หน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตสัตว์ (HHU) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ลำปาง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ของกรมปศุสัตว์ และของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคง และความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและองค์กรโคนม
https://region5.dld.go.th/webnew/index.php/en/news-menu/2019-08-07-09-22-48/1835-2565-n57#sigFreeId83a2956501
ภาพ/ข่าว : สำนักงานปศุสัตว์เขต 5