s  21708842  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 นายสัตวแพทย์สรวิส ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ถึงผลการตรวจยืนยันด้วยวิธี Realtime-PCR และ Sequencing พบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งอยู่ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย น้ำหนักประมาณ 800 กรัม จากนักท่องเที่ยว ที่เดินทางจากเมืองเฉินตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยสายการบินเสฉวนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 3U8287

นายสัตวแพทย์สรวิส กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดในสินค้าและนักท่องเที่ยว ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่พบการระบาดของโรค เป็นการควบคุมป้องกันโรคมิให้เข้ามาระบาดภายในประเทศ สำหรับการตรวจพบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อดังกล่าวในผลิตภัณฑ์จากสุกรที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวมา ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ต่อจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่สามารถตรวจพบภัยคุกคามดังกล่าวได้

นายสัตวแพทย์สรวิส กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในวันนี้กรมปศุสัตว์ได้จัดการซ้อมแผนการรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตามแผนที่ได้จัดทำขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นับตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงสำนักงานปศุสัตว์เขตในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมทั้งภาคเอกชนได้สนับสนุนงบประมาณในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคเข้าประเทศที่ด่านกักกันสัตว์ต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคราชการเองได้กำหนดมาตรการที่เข้มงวดหลายมาตรการ เช่น การชะลอการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่พบการระบาดของโรค การเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการและเครือข่ายในการตรวจวินิจฉัยให้มีความถูกต้องและรวดเร็ว การเข้มงวดตรวจสอบสัมภาระของนักท่องเที่ยวที่อาจมีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงเข้ามาในประเทศไทยซึ่งมีผลการตรวจยึดได้เป็นจำนวนมาก การเข้มงวดตรวจจับและหาข่าวการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์ผ่านเข้ามาทางชายแดนประเทศเพื่อนบ้านโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยความมั่นคงต่างๆ รวมทั้งเร่งสร้างความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผ่านรูปแบบการประชุมและการซ้อมแผนในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการกำหนดมาตรการหรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว กรมปศุสัตว์มีความจำเป็นต้องยกระดับและให้ความสำคัญต่อโรคดังกล่าว พร้อมผลักดันผ่านรัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาความร่วมมือและทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ในการควบคุม ป้องกันโรคมิให้เข้ามายังประเทศไทยได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวนี้ไม่ติดต่อสู่คนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านอาหาร
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 องค์การสุขภาพสัตว์โลก รายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 16 ประเทศ จำแนกเป็นทวีปยุโรป 11 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และล่าสุดที่ทวีปเอเชีย 1 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พบการระบาดในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมป้องกันโรคมิให้เข้ามาระบาดภายในประเทศจากการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาค และเชื้อปนเปื้อนมากับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดมาตรการการตรวจสอบที่เข้มงวดในสินค้าและนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่พบการระบาดของโรค

อีกทั้งรัฐบาลไทยโดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรพร้อมทั้งองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง มีความตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรของไทยหากเกิดการระบาดโรคในประเทศไทย จึงได้บูรณาการความร่วมมือในการจัดทำแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพื่อให้การจัดทำแผนมีความคลอบคุม ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ขอให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์ในการป้องกันโรคมิให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย

“ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช้เศษอาหารที่มาสุกรนำมาเลี้ยงสุกรหรือนำผลิตภัณฑ์ที่มาจากสุกรเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด”

สำหรับรายย่อยที่มีจำเป็นต้องใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกรให้ต้มให้สุกก่อน ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที